ข้อบังคับ มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้อบังคับ
มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์


หมวดที่ ๑ ชื่อเครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง

          ข้อ ๑. มูลนิธินี้ชื่อว่า “มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชุปถัมภ์” เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “KING RAMA IV FOUNDATION UNDER ROYAL PATRONAGE”
          ข้อ ๒. เครื่องหมายของมูลนิธิ คือ  เลข ๔ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ มีคำว่า มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในกรอบรูปไข่ และในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายในแพรแถบ ต่อท้ายกรอบรูปไข่ ตามรูปที่ปรากฏด้านล่างนี้

            ข้อ ๓. สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร ๒๔๘ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

 

หมวดที่ ๒ วัตถุประสงค์

            ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้ คือ
                         ๔.๑ เผยแพร่พระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณ แห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                         ๔.๒ ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเผยแพร่ผลงานให้ปรากฏ
                         ๔.๓ ส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการศึกษา
                         ๔.๔ ส่งเสริมกิจการต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มไว้
                         ๔.๕ จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และบำเพ็ญกุศลอุทิศน้อมเกล้าฯ ถวายตามโอกาส
                         ๔.๖ ดำเนินการในเรื่องการศึกษาค้นคว้าวิจัยต่างๆ อันเป็นการเผยแพร่พระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และบุคคลสำคัญในรัชกาลต่างๆ
                         ๔.๗ เพื่อดำเนินการ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
                         ๔.๘ ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

 

หมวดที่ ๓ ทุนทรัพย์ ทรัพย์สิน และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

          ข้อ ๕. ทรัพย์สินของมูลนิธิ ทุนเริ่มแรก คือ
                         ๕.๑ เงินสด จำนวน ๑,๗๙๘,๐๕๕.๒๔ บาท (หนึ่งล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นแปดพันห้าสิบห้าบาทยี่สิบสี่สตางค์)
                         ๕.๒ ที่ดิน (ถ้ามี) โฉนด เลขที่………………….รวมเป็นราคาทรัพย์สินทั้งสิ้น ๑,๗๙๘,๐๕๕.๒๔ บาท (หนึ่งล้านเจ็ดแสนเก้าหมื่นแปดพันห้าสิบห้าบาทยี่สิบสี่สตางค์)
          ข้อ ๖. มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้
                         ๖.๑ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นๆ โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สินหรือภาระติดพันอื่นใด
                         ๖.๒ เงินหรือ ทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้
                         ๖.๓ ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ
                         ๖.๔ รายได้อันเกิดจาการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ

 

 หมวดที่ ๔ คุณสมบัติและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ

           ข้อ ๗. กรรมการของมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติดังนี้
                          ๗.๑ มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี บริบูรณ์
                          ๗.๒ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
                          ๗.๓ ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
           ข้อ ๘. กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
                          ๘.๑ ถึงคราวออกตามวาระ
                          ๘.๒ ตายหรือลาออก
                          ๘.๓ ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับข้อ ๗
                          ๘.๔ เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย และคณะกรรมการมูลนิธิมีมติให้ออก โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการมูลนิธิ

 

หมวดที่ ๕ การดำเนินงานของคณะกรรมการของมูลนิธิ

           ข้อ ๙. มูลนิธินี้ดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิ มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๙ คน แต่ไม่เกิน ๓๖ คน
           ข้อ ๑๐. คณะกรรมการของมูลนิธิ ประกอบด้วย ประธานกรรมการมูลนิธิ รองประธานกรรมการมูลนิธิ เลขาธิการมูลนิธิ เหรัญญิก และกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับข้อ ๙
           ข้อ ๑๑. การแต่งตั้ง กรรมการมูลนิธิให้ปฏิบัติดังนี้  ให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่แต่งตั้งประธานกรรมการมูลนิธิและกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ
           ข้อ ๑๒. กรรมการดำเนินงานมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๔ ปี
           ข้อ ๑๓. การแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเป็นมติของที่ประชุม
           ข้อ ๑๔. กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก
           ข้อ ๑๕. ในกรณีที่กรรมการของมูลนิธิ พ้นจากตำแหน่งถึงคราวออกตามวาระ ให้กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งถึงคราวออกตามวาระ ปฏิบัติหน้าที่กรรมการ ของมูลนิธิต่อไปจนกว่ามูลนิธิจะได้รับแจ้งการจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิที่ตั้งใหม่

 

หมวดที่ ๖ อำนาจหน้าที่คณะกรรมการมูลนิธิ

           ข้อ ๑๖. คณะกรรมการ มูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของมูลนิธิ
           ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิและภายใต้ข้อบังคับนี้ ให้มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้
                         ๑๖.๑ กำหนดนโยบาย ของมูลนิธิ และดำเนินการตามนโยบายนั้น
                         ๑๖.๒ ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่างๆ ของมูลนิธิ
                         ๑๖.๓ เสนอรายงานกิจการ รายงานการเงิน และบัญชีรายรับ – รายจ่าย ต่อนายทะเบียน
                         ๑๖.๔ ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ และวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้
                         ๑๖.๕ ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมูลนิธิ
                         ๑๖.๖ แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง หรือหลายคณะเพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของมูลนิธิ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการมูลนิธิ
                        ๑๖.๗ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิหรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้มูลนิธิเป็นพิเศษเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์
                        ๑๖.๘ เชิญผู้ทรงเกียรติเป็นผู้อุปถัมภ์มูลนิธิ
                        ๑๖.๙ เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิ
                        ๑๖.๑๐ แต่งตั้งหรือถอดถอน เจ้าหน้าที่ประจำมูลนิธิ มติให้ดำเนินการตามข้อ ๑๖.๗ ๑๖.๘ และ๑๖.๙ ต้องเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุมและที่ปรึกษาตามข้อ ๑๖.๙ ย่อมเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิที่เชิญเท่านั้น

            ข้อ ๑๗. ประธานกรรมการมูลนิธิมี อำนาจหน้าที่ดังนี้
                        ๑๗.๑ เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
                        ๑๗.๒ สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
                        ๑๗.๓ เป็นผู้แทนของมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอก หรือการลงลายมือชื่อในเอกสารข้อบังคับและสรรพหนังสือ อันเป็นหลักฐานของมูลนิธิ เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือกรรมการมูลนิธิผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนได้ ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้
                        ๑๗.๔ ปฏิบัติการอื่นๆ ตามข้อบังคับ และมติของคณะกรรมการมูลนิธิ

             ข้อ ๑๘. ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิ เมื่อประธานไม่สามารถหรือปฏิบัติหน้าที่ได้ ในกรณีที่ประธานมอบหมายให้ทำการแทน
             ข้อ ๑๙. ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิและรองประธานกรรมการมูลนิธิ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมคราวหนึ่งคราวใดได้ ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิคนใด คนหนึ่งเป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น
             ข้อ ๒๐. เลขาธิการมูลนิธิ มีหน้าที่ควบคุมกิจการ และดำเนินการประชุมของมูลนิธิ ติดต่อประสานงานทั่วไป รักษาระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิ นัดประชุมกรรมการตามคำสั่งของประธานกรรมการมูลนิธิ และทำรายงานการประชุมตลอดจนรายการกิจการของมูลนิธิ
             ข้อ ๒๑. เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการเงิน ทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด
             ข้อ ๒๒. สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ให้มีเจ้าหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด โดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน
             ข้อ ๒๓. คณะกรรมการของมูลนิธิมีสิทธิ เข้าร่วมประชุมกรรมการ หรืออนุกรรมการอื่นๆ ของมูลนิธิได้

 

หมวดที่ ๗ อนุกรรมการ

             ข้อ ๒๔. คณะกรรมการมูลนิธิอาจแต่งตั้งหรือถอดถอนอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม โดยจะแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการประจำหรือเพื่อการใดเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราวก็ได้ และในกรณีที่คณะกรรมการมูลนิธิไม่ได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการ เลขาธิการหรืออนุกรรมการในตำแหน่งอื่นไว้ ก็ให้อนุกรรมการและคณะแต่งตั้งกันเองดำรงตำแหน่งดังกล่าวก็ได้
             ข้อ ๒๕. อนุกรรมการ อยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จที่ได้มอบหมายให้กระทำ ส่วนอนุกรรมการประจำอยู่ในตำแหน่งตามเวลาที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด ซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ การให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งเป็นผู้แต่งตั้ง และอนุกรรมการที่พ้นจากตำแหน่ง อาจได้รับการแต่งตั้งอีกก็ได้
                          ๒๕.๑ อนุกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมูลนิธิมอบหมาย
                          ๒๕.๒ อนุกรรมการมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย

 

หมวดที่ ๘ การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

             ข้อ ๒๖. คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีทุกๆ ปี ภายในเดือน  เมษายน และต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
             ข้อ ๒๗. การประชุมวิสามัญอาจมีได้ในเมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ หรือเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป แสดงความประสงค์ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิ หรือผู้ทำการแทนขอให้มีการประชุมก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้
             ข้อ ๒๘. กำหนดการประชุมและองค์ประชุมของคณะกรรมการให้เป็นได้ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุมให้คณะอนุกรรมการตกลงกันเอง และในส่วนที่เกี่ยวกับองค์ประชุมให้ใช้ ข้อ ๒๖ บังคับโดยอนุโลม
             ข้อ ๒๙. ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นมติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาดกิจการใดที่เป็นงามประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยประธานกรรมการมูลนิธิ มีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ แต่ประธานกรรมการมูลนิธิ ต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในคราวต่อไปถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการไปตามมตินั้น กิจการใดเป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิ
             ข้อ ๓๐. ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือประธานในที่ประชุม มีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติ หรือผู้สังเกตการณ์ หรือเพื่อชี้แจง หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้

 

หมวดที่ ๙ การเงิน

            ข้อ ๓๑. ประธานกรรมการมูลนิธิ หรือรองประธานกรรมการมูลนิธิในกรณีทำหน้าที่แทน มีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกิน – ๑๐๐,๐๐๐ -บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)  ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าว ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมาก เว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วนให้อยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิที่จะอนุมัติให้จ่ายได้ แล้วต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป
            ข้อ ๓๒. เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน -๒๐,๐๐๐- บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)
            ข้อ ๓๓. เงินสดของมูลนิธิหรือเอกสารสิทธิ ต้องนำฝากไว้กับธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นใดที่รัฐบาลให้การค้ำประกัน แล้วแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร
            ข้อ ๓๔. การสั่งจ่ายเงินโดยเช็คหรือตั๋วสั่งจ่ายเงิน จะต้องมีลายมือชื่อของประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทน กับเลขาธิการหรือเหรัญญิกลงนามทุกครั้ง จึงจะเบิกจ่ายได้
            ข้อ ๓๕. การใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ รวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำสำนักงาน ให้จ่ายเพียงดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุน เงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนา ให้เป็นเงินสมทบทุนโดยเฉพาะ และรายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ
            ข้อ ๓๖. ให้คณะกรรมการมูลนิธิวางระเบียบเกี่ยวกับการเงิน การบัญชีและทรัพย์สินของมูลนิธิ ตลอดจนกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการรับและจ่ายเงินนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
            ข้อ ๓๗. ให้คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดรอบระยะเวลาบัญชี และจัดทำรายงานสถานะการเงินของมูลนิธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา เสนอต่อที่ประชุมในการประชุมสามัญประจำปี

 

หมวดที่ ๑๐ การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ

            ข้อ ๓๘. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับจะกระทำได้ โดยเฉพาะที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งต้องมี กรรมการมูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และการอนุมัติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับต้องประกอบด้วย คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของ จำนวนกรรมการที่เข้าประชุม

 

หมวดที่ ๑๑ การเลิกมูลนิธิ

            ข้อ ๓๙. ถ้ามูลนิธิต้องเลิกล้มไปโดยมติของคณะกรรมการ หรือโดยเหตุใดก็ตาม ทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิที่เหลืออยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ วัดบวรนิเวศวิหาร
            ข้อ ๔๐. การสิ้นสุดของมูลนิธินั้น นอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วให้มูลนิธิเป็นอันสิ้นสุดโดยมิต้องให้ศาลสั่งเลิกด้วยเหตุต่อไปนี้
                          ๔๐.๑ เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาติให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้วไม่ได้รับทรัพย์สินตามคำมั่นเต็มจำนวน
                          ๔๐.๒ เมื่อกรรมการมูลนิธิจำนวนสองในสามมีมติให้ยกเลิก
                          ๔๐.๓ เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
                          ๔๐.๔ เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ

 

บทเบ็ดเตล็ด

           ข้อ ๔๑. การตีความในข้อบังคับของมูลนิธิ หากเป็นที่สงสัยให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด
           ข้อ ๔๒. ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับในเมื่อข้อบังคับของมูลนิธิมิได้กำหนดไว้
           ข้อ ๔๓. มูลนิธิต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง

Add Comment